
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ณ ลานกิจกรรมหาดราชมงคลตรัง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โครงการขยายผลธนาคารปูม้าตรัง กระบี่ โครงการปลาในกระชัง โครงการหอยนางรม และโครงการสาหร่ายพวงองุ่นศูนย์เรียนรู้ปูม้าตรัง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดงาน“ประมงแฟร์ (วันกินปูม้าตรัง ครั้งที่ 5)” ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2568 นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มอบโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตรให้กับชุมชนต้นแบบ สมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังและกระบี่ โดยมีคณะผู้บริหาร มทร.ศรีวิชัย เข้าร่วมงาน นำโดย ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง ผศ.มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และชุมชนประมงเครือข่ายชายฝั่งจังหวัดตรังและกระบี่ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปจากชุมชนเครือข่ายสร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดตรังก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชน
ผศ.ดร.วิกิจ ผินรับ ผู้ช่วยอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมจากการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ภายใต้การให้ความร่วมมือจาก โครงการขยายผลธนาคารปูม้าตรัง กระบี่ โครงการปลาในกระชัง โดยผศ. ดร.นัฏฐา คเชนทร์ภักดี โครงการหอยนางรม โดยผศ.ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้ว โครงการสาหร่ายพวงองุ่นศูนย์เรียนรู้ปูม้าตรัง และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมจัดกิจกรรม ภายในงาน มีการจัดนิทรรศนำเสนอผลการดำเนินในโครงการดังกล่าว พร้อมเปิดเวทีเสนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ข้อเสนอแนะในโครงการนั้นๆ อีกทั้งกิจกรรมประจำวันที่น่าสนใจ อาทิ การโชว์การทำอาหารเมนูปูม้า ปลากะพง และหอยนางรม การแสดงดนตรีสดจากนักศึกษา การแข่งขันตำส้มตำสาหร่ายพวงองุ่น แข่งขันการแล่ปลากะพง แข่งขันแกะเนื้อปูม้า การแข่งขันแกะหอยนางรม เพื่อร่วมสนุกชิงเงินรางวัล พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งในแต่ละประเภทอีกด้วย นอกจากนั้นมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากนักศึกษาแต่ละสังกัด เพื่อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สร้างความเข้มแข็งสู่ความยั่งยืนสู่ชุมชนต่อไป
































