วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มทร.ศรีวิชัย จัดการฝึกอบรมปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร 6 งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประธานกล่าวเปิดงาน ได้กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลทรัพยากร ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้เห็นถึงความสำคัญ และมีความพร้อมด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การฝึกอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ณ ห้องฝึกอบรมสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มทร.ศรีวิชัย นำโดย รศ.ดร.ลักษมี วิทยา รองผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมคณะทำงาน ร่วมจัดกิจกรรฝึกอบรมความรู้ตลอดทั้ง 4 วัน โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมจำนวน 16 หน่วยงาน และทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมบรรยายถ่ายทอดความรู้ นำโดย คุณมรกต วัชรมุสิก วิทยากรจาก อพ.สธ. (สำนักพระราชวัง) ผศ.ดวงจิต แก้วอุบล ที่ปรึกษาศูนย์แม่ข่ายประสานงานและศูนย์ประสานงานอพ.สธ.ภาคใต้ วิทยากรศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ วิทยากรศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ความเข้าใจตามแนวการสนองพระราชดำริ ด้านการบริหารและการจัดการ ดำเนินงาน หลักสูตร 6 งานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ประกอบด้วย 1. การเก็บข้อมูลพื้นฐานในท้องถิ่น 2. การเก็บข้อมูลการประกอบอาชีพในท้องถิ่น 3. การเก็บข้อมูลด้านกายภาพในท้องถิ่น 4. การเก็บข้อมูลประวัติหมู่บ้าน วิถี ชุมชน 5. การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพืชในท้องถิ่น 6. การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์สัตว์ในท้องถิ่น 7. การสำรวจเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ชีวภาพอื่นๆ 8. การเก็บรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 9. การรวบรวมข้อมูลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและโบราณคดี เพื่อนำความรู้สู่การสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป