“ตรัง 360° ท้าทายทุกการค้นพบ” เพื่อยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง โดย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
วันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมตรัง 360° ท้าทายทุกการค้นพบ” ภายใต้โครงการจากวิกฤติสู่การปรับตัว : การพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลอ่าวไทย-อันดามันคุณภาพสูงด้วยการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ การจัดการสมัยใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมสร้าง Engagement บนมาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการเพิ่ม Supply Chain โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ธนารมย์ 2 (ชั้น 3) โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว เปิดโลกทัศน์ และมุมมองใหม่ๆ ผสานแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจน ยกระดับและพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง ของภาคใต้และของประเทศชาติอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมแห่งความหวัง ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ และมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศดีขึ้น ก่อเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการลงทุนและสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดตรังที่เหมาะสม ทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังทุกภาคส่วน การเตรียมการรองรับ ตลอดจนสร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับนักท่องเที่ยวจะส่งผลต่อ การสร้างรายได้ในอนาคต ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นเหตุผลที่วิทยาลัย ฯ ได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งนี้วิทยาลัย ฯ ไม่ได้ทำเพื่อปัจจุบันเท่านั้น แต่หวังไปถึงความยั่งยืน ในอนาคต ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นโอกาสให้การท่องเที่ยวจังหวัดตรังเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้บูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น จำนวน 150 คน และได้ออกแบบกิจกรรมเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
1. กิจกรรมเสวนา “ตรังมรกตแห่งอันดามัน…ผ่านมุมมองของผู้นำด้านการท่องเที่ยวตรัง” โดย นายกสมาคม หรือผู้แทน จากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง, สมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรมจังหวัดตรัง, สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวหาดปากเมง, สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวกันตัง สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลิบง
2. กิจกรรมบรรยาย “ทิศทางการพัฒนาด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคใต้ โดย ศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ 3. กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “การกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวเพื่อการตระหนักรู้และเข้าใจการพัฒนาการท่องเที่ยว บนพื้นฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน” แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 4 ห้อง ดังนี้ ห้องที่ 1 การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ ห้องที่ 2 ตลาดการท่องเที่ยวสุดปัง (เขา ป่า นา เล เมือง) ห้องที่ 3 จัดอีเว้นท์ให้ว้าวโดนใจ และ ห้องที่ 4 ปลดล็อกพื้นที่การท่องเที่ยวตรัง โดย คณะวิทยากรจากภาคีการท่องเที่ยว มากกว่า 20 ท่าน ร่วมกันสกัดประเด็นสำหรับนำมาใช้วางแผนการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ให้จังหวัดตรังต่อไป