มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดอันดามัน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชายฝั่งและเพิ่มมูลค่าสาหร่ายพวงองุ่น แทนการจำหน่ายแบบสดเพียงอย่างเดียว แต่ยัง เผยแพร่และส่งเสริมความรู้ทางวิชาการทางด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์และนำไปใช้ประโยชน์สู่ชุมชน
ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง กล่าวว่า ได้ทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติหรือ วช. สาหร่ายพวงองุ่นนั้นเป็นสาหร่ายที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีแนวคิดในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นไปสู่ชุมชน พร้อมกันนั้นได้มีการสร้างศูนย์เรียนรู้ที่บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา เป็นแห่งแรกเมื่อปี 2560 และได้ขยายศูนย์การเรียนรู้ออกไปอีก 4 ชุมชน ใน อ.กันตัง และอ.ปะเหลียน โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ วิธีการเพาะเลี้ยง ณ โรงเรือนต้นแบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ฯ ภายในมหาวิทยาลัยราช มงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยได้มีการถ่ายทอดความรู้ในทุกขั้นตอน พร้อมส่งต่อความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับ ชาวบ้านรายอื่นที่สนใจเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น โดยได้เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในโรงเรือน ใช้ถังไฟเบอร์ขนาด 400-500 ลิตร และใช้ตะกร้าที่ใส่พันธุ์สาหร่ายพวงองุ่น น้ำหนักประมาณ 2 ขีดต่อ1 ตะกร้า แช่น้ำในถังไฟเบอร์ดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 2 เดือน จะได้สาหร่ายพวงองุ่นก็จะขยายเต็มตะกร้า ขนาด 2-3 กิโลกรัม ซึ่งต้นทุนในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นนั้นไม่สูงมาก แตกต่างจากการเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไปที่ต้องคอยให้อาหาร แต่สาหร่ายพวงองุ่นนั้น อาหารจะเป็นน้ำหมักชีวภาพ โดยการนำเศษปลามาหมักโดยใช้เวลาระยะหนึ่งก็สามารถนำมาเทในถังไฟเบอร์ให้สาหร่ายได้กินเป็นอาหาร สาหร่ายพวงองุ่นจะเป็นสาหร่ายที่ปลอดสารพิษ ซึ่งการเลี้ยงนั้นต้องคอยดูแลไม่ให้มีลูกปลาที่อาจจะติดมากับน้ำขณะเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพราะลูกปลาจะไปกัดกินสาหร่ายทำให้ได้รับความเสียหาย รวมถึงสาหร่ายชนิดอื่นๆที่อาจปะปนมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายไส้ไก่ หรือสาหร่ายขนนก จะต้องมีการคัดเก็บออกจากตะกร้าเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำในถัง อาทิตย์ละ 1 ครั้ง สาร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ฯ จึงได้รับความนิยมของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง และมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง โทร 080-6481205