เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2567 พบ ลูกพะยูนเพศผู้อายุประมาณ1-2 เดือน บริเวณเกาะปอดะ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดยนักท่องเที่ยว
จากนั้นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง และประสานมายังโรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง เป็นสถานที่รับการดูแลรักษา โดยสัตวแพทย์ รวมกัน เพื่อดูแล “ลูกพะยูน” อย่างใกล้ชิดหลังพบว่ายน้ำเพียงลำพังสภาพอ่อนแรง ในพื้นที่เกาะปอดะ
วันที่ 11 สิงหาคม 2567 นายทรงกรด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงพื้นที่ติดตามอาการ ลูกพะยูนเพศผู้ วัย 2 เดือน ณ โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง พบว่ามีอาการดีขึ้น โดยพะยูนมีน้ำหนัก 13.8 กก. มีความยาว 102 ซม. พบรอยบาดแผลบริเวณส่วนจมูก และหัวเล็กน้อย ร่างกายค่อนข้างผอม บริเวณตาซ้ายขุ่น เสียงปอดมีความชื้นเล็กน้อย ลำไส้มีการบีบตัว อีกทั้งพะยูนยังมีความอยากกินอาหาร
ผศ.ดร.ประเสริฐ ทองหนูนุ้ย ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสัตว์น้ำราชมงคลตรัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากจังหวัดตรัง สร้างเสร็จเมื่อปี 2566 นั้น ได้มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับดูแลลูกพะยูนดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้มีการอนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ในเขตุพื้นที่ฝั่งอันดามันทั้ง สามจังหวัด ได้แก่ ตรัง กระบี่ และสตูลอีกด้วย พร้อมยินดีให้ความร่วมมือในการประสานงานอำนวยความสะดวกแก่ทีมแพทย์ที่ดูและพะยูนและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ พร้อมยินดีเสริมกำลังทีมเจ้าหน้าที่ ให้ความช่วยเหลือดูแลตลอด 24 ชั่วโมง