มทร.ศรีวิชัย ร่วมกับ วช.จับมือผู้ประกอบการ ขยายผลงานวิจัยยกระดับห่วงโซ่คุณค่าแตงโมเกาะสุกร

 วันที่ 23 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำโดย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี  พร้อมทีมวิจัยแผนงาน การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งได้รับทุนวิจัย ปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ซึ่งมี ดร.ขวัญตา ตันติกำธน ผู้อำนวยการแผนงาน พร้อมด้วยหัวหน้าโครงการวิจัย รศ.ดร.ลักษมี วิทยา และ ผศ.จันทรา  อุ้ยเอ้ง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง

 สำหรับชุดโครงการวิจัยการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง  ได้ดำเนินการวิจัยและส่งมอบผลผลิตงานวิจัยทั้งในการเสนอแหล่งทุน และการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดย ดร.ขวัญตา ตันติกำธน หัวหน้าแผนงานวิจัย เผยว่าแตงโมเกาะสุกรมีความโดดเด่น ด้วยมีรสชาติหวานอร่อย เนื่องจากพื้นที่บริเวณเกาะสุกรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายตามแนวชายหาด ทำให้ต้นแตงโมเจริญเติบโตได้ดี และสามารถปลูกได้ถึงปีละ 3 รุ่น แต่เกษตรกรยังคงประกอบอาชีพปลูกแตงโมแบบดั้งเดิม ก่อนดำเนินงานวิจัยพบว่ากลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจในท้องถิ่น ประสบกับปัญหาด้านการเพาะปลูก การขาดองค์ความรู้ ทักษะด้านการเพาะปลูกที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ทำให้ผลผลิตต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของกลุ่มลดลงตามมา ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพการผลิตแตงโม ตำบลเกาะสุกร มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลผลิตมีคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกรในการแข่งขัน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าการผลิตในพื้นที่เพิ่มการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ผลิตหรือผู้ผลิตต้นน้ำได้  ซึ่งทางผู้วิจัยได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาด้งกล่าวด้วยการจัดกิจกรรม การพัฒนาศักยภาพการผลิตแตงโมเกาะสุกรเพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิต มีเป้าหมายส่งเสริมการปลูกแตงโมให้มีกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานการผลิต (GAP) การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมงเกาะสุกร   และการพัฒนาการตลาดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแตงโมเกาะสุกร  การจัดการองค์ความรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านการเพาะปลูก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการเพาะปลูกแตงโม ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโม ที่มีสมาชิกมากกว่า 100 ราย

 ทั้งนี้ผลผลิตจากชุดโครงการวิจัย ที่ส่งมอบให้กับพื้นที่ไปแล้ว คือ1) คู่มือแนวปฏิบัติการปลูกแตงโมเกาะสุกร และคู่มือการจัดการต้นทุนและระบบการบริหารต้นทุนการปลูกแตงโมเกาะสุกร 2) ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตแตงโมเกาะสุกร 3) สื่อวีดิทัศน์เรื่องราวแตงโมเกาะสุกร และสื่อแอนิเมชั่นแนวปฏิบัติการปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตแตงโมเกาะสุกร และ 4) บรรจุภัณฑ์แตงโมเกาะสุกร

 นายธวัชชัย ไข่มุสิก ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมเกาะสุกร กล่าวว่า การปลูกแตงโมในเกาะสุกรจะเริ่มปลูกตั้งแต่ฤดูทำนาตั้งแต่เดือนตุลาคม และปลูกมากหลังการทำนา ในช่วงเดือนมกราคม เรียกว่าแตงโม 3 รุ่นคือรุ่นคันนา,รุ่นชายหาดและรุ่นหลังการทำนา ซึ่งผลผลิตจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน  ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมในเกาะสุกรมีประมาณ 100 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกมากกว่า 500 ไร่ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับรองแปลงปลูกมาตรฐาน GAP จำนวน 50 ครัวเรือน ปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่า 200 ตัน โดยปีนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ รับซื้อแตงโมจากสมาชิกที่ได้มาตรฐาน GAP ให้ราคาหน้าแปลงราคากิโลกรัมละ 13-14 บาท ซึ่งสูงกว่าแตงโมทั่วไป 2-3 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มมีกระบวนจัดการคัดขนาดและขนย้ายเพื่อนำส่งให้กับผู้รวบรวม โดยมีต้นทุนเกิดขึ้น 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่เกิดขึ้นในส่วนกลางน้ำ ราคาประมาณ 25-35 บาทต่อกิโลกรัม และพบว่าปัจจุบันแตงโมเกาะสุกรมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ราคาระหว่าง 69-79 บาทต่อกิโลกรัม

 นายณัฐวัตร ตัณศิริเสถียร ประธานโอทอปเทรดเดอร์จังหวัดตรัง ในฐานะภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยโครงการวิจัยในการสร้างกลยุทธ์การตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกแตงโม กล่าวว่าปีนี้กลุ่มเกษตรกรมีการปรับตัว วางแผนการปลูกแตงโม และควบคุมคุณภาพมากขึ้น มีการวางแผนการจัดส่งผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด  ทำให้ในปีนี้มีเสียงตอบรับเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  รวมทั้งมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดช่วยกันส่งเสริมด้านการตลาด ส่งผลให้แบรนด์แตงโมเกาะสุกร เป็นที่นิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น มียอดสั่งซื้อแตงโมเกาะสุกรที่มีเครื่องหมาย GAP เพิ่มขึ้น

 ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมหาวิทยาลัยฯ ได้รับโจทย์จากทางจังหวัดตรัง และ สส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ เกี่ยวกับปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมที่ประสบปัญหาการขาดทุน และแตงโมล้นตลาดในทุกปีที่ผลิต จนเกษตรกรหลายรายเกิดความท้อแท้ ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงพัฒนาโครงการวิจัยการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตแตงโมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งพบว่าสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพิ่มการผลิตแตงโมที่มีคุณภาพ และส่งเสริมการตลาดที่กระจายแตงโมเกาะสุกรให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น  จนปีนี้พบว่าเกษตรกรกลับมาปลูกแตงโมเพิ่มขึ้น มีแตงโมเกาะสุกรออกสู่ตลาดวันละประมาณ 10 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมบนเกาะ วันละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท และคาดว่าจากผลผลิตแตงโมในปีนี้จะเกิดมูลค่าหมุนเวียนในพื้นที่ประมาณ 5 ล้าน มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวเกาะสุกรเพื่อซื้อและชิมแตงโมมากขึ้น  อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยฯ ยังคงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งเกษตรจังหวัดตรัง พาณิชย์จังหวัดตรัง ททท.ตรัง OTOP Trader และกลุ่มวิสาหกิจฯ เพื่อสนับสนุนการผลิตแตงโมให้กับชุมชนในเกาะสุกร ให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป.