เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา พราหมณ์ชูเอม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตตรัง นายเอกชัย เลาหะสราญ ที่ปรึกษาด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติกร ขันแกล้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นางอุษา ศรีเจริญ หัวหน้าสำนักงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 โดยนายอภินัย ลีลากานต์ รองผู้อำนวยการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 นายจรัญ เกล้านพรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 นายเจษฎา อนันทวรรณ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตรัง นายสมพร ทวีกาญจน์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพังงา ผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน และผู้สื่อข่าว ได้เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ณ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานวิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ทั้ง 7 พื้นที่ และมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ และมอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านวิชาการ ในการพัฒนาและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านพลังงานร่วมกับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2
นายอภินัย ลีลากานต์ รองผู้อำนวยการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศขับเคลื่อนนโยบาย “พลังงาน 4.0 (Energy 4.0)” โดยการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และนำนวัตกรรมทีเหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา และกำหนดให้การประหยัดพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ โดยทุกหน่วยงานราชการต้องเป็นผู้นำในการลดใช้พลังงาน ทั้งด้านไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง และดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ทุกส่วนราชการพิจารณานำร่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในหน่วยงานและกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการเพื่อลดภาระงบประมาณค่าสาธารณูปโภคทุกประเภทของแต่ละหน่วยงานโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนด้วย มีกรอบดังนี้
- การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายภาค กระจายตามพื้นที่ ที่มีการใช้ไฟฟ้า (Distributed Generation: DG) ตลอดจนเพื่อความมั่นคงและภัยพิบัติ อาทิ พื้นที่ของวิทยาลัย โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยฯ โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในทุกภูมิภาค และมุ่งเน้นศักยภาพของเชื้อเพลิงที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในแต่ละภูมิภาค
- การสนับสนุนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านพลังงาน
- การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน 100% โดยไม่ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (Net Zero Building)
- การสนับสนุนเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีประชาชากรตั้งแต่ 2,000-3,000 คน ขึ้นไป (เมืองชุมชน) สู่เมืองอัจฉริยะ โดยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City
- การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง
- การสนับสนุน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) อย่างเป็นรูปธรรม ในการใช้เทคโนโลยีนี้ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
พิธีลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ในวันนี้ จะเป็นการเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบาย “พลังงาน 4.0 (Energy 4.0)” ภายใต้การดำเนินการโครงการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 ซึ่งเป็นการนำร่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐบาลและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานควบคู่กับระบบ ICT จากนโยบาย และโครงการ ไปสู่การลงมือปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรายภาคในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ นักวิจัย และนิสิต นักศึกษา และบุคลากรของทั้งสองฝ่าย
สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 เป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันอุดมศึกษา ในกำกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานตั้งอยู่ภายในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสุนทร พลรงค์ เป็นผู้อำนวยการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 จัดตั้งขึ้นตามกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2555 โดยการรวมตัวกันของ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน อาทิ จังหวัดตรัง กระบี่ พังงา ภุเก็ต และระนอง มีวิทยาลัยในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 จำนวน 7 วิทยาลัยประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยอาชีวศึกษาตรัง, วิทยาลัยเทคนิคกระบี่, วิทยาลัยเทคนิคพังงา, วิทยาลัยเทคนิคระนอง วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เพื่อทำหน้าที่ผลิตการศึกษาขั้นสูง ในระดับปริญญาตรี (สายปฏิบัติการ) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยงยุทธ หนูเนียม เป็นรักษาราชการแทน อธิการบดี มีนักศึกษารวมประมาณ 20,000 คน และมีบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน ประมาณ 1,500 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มุ่งเน้นการจัดการศึกษาชั้นสูง ในการผลิตบัณฑิตวิชาชีพที่มีความสามารถในการบริหารจัดการอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการบริการ และยึดแนวทางที่ว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เน้นผลิตบัณฑิต นักปฏิบัติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คิดเป็น ทำเป็น และใช้เป็นที่มีคุณธรรมและจริยธรรม” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แบ่งเขตพื้นที่ ออกเป็น 7 พื้นที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พื้นที่วิทยาลัยรัตภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ขนอม
- สถานีวิจัยและฝึกอบรมราชมงคลศรีวิชัย พื้นที่ชุมพร